หนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยอันดับต้นๆ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด หลักฐานทางระบาดวิทยาส่งสัญญาณอันน่าวิตกในคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป (วัยอันเป็นเสาหลักของครอบครัวและผู้สูงอายุรวมกัน) จำนวน 25 ล้านคน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเสื่อม โดย 8.9 ล้านคนน้ำหนักเกินหรืออ้วน 6.2 ล้านคนสูบบุหรี่ 5.1 ล้านคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง 4.4 ล้านคนไขมันในเส้นเลือดข้นเกิน และ 2.4 ล้านคนเป็นเบาหวาน
อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งการวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์แน่ชัดว่า การบริโภคปลาน้ำจืดมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ปะเทศไทยถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และการบริโภคปลาน้ำจืดก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนไทยมาช้านาน แต่คนไทยก็ยังบริโภคปลาน้ำจืดในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งจากการสำรวจการบริโภคในปี พ.ศ.2548 พบว่า มีการบริโภคเพียง 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนอเมริกันบริโภคปลา 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคนญี่ปุ่นบริโภคปลาถึง 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานแล้วกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โรคเบาหวานนั้นมี 2 ชนิด โดยเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากความผิดปกติของการอักเสบของตับอ่อนที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้อินซุลินที่ควบคุมน้ำตาลทำงานบกพร่อง ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 มาจากความอ้วนอันเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคส่งผลให้ตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งการบริโภคเนื้อปลาจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของ โรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดได้ เพราะโอเมก้า-3 ในปลาจะช่วยลดการอักเสบของตับอ่อน นอกจากนี้ปลายังมีคุณภาพของโปรตีนที่สูงกว่าเนื้อวัวและเนื้อหมู เรียกว่าเป็นโปรตีนชั้นเลิศ ช่วยให้อิ่มเร็วและย่อยง่ายป้องกันการเกิดโรคอ้วนซึ่งจะนำมาสู่การเป็นโรคเบาหวาน อีกทั้งโอเมก้า-3 ยังช่วยในการพัฒนาเซลส์สมอง ลดไขมันในเลือด และช่วยในการเต้นของหัวใจเป็นปกติ
ดังนั้นการบริโภคปลาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนซึ่งจะนำไปสู่โอกาสการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้